ตำนานของเทพธิดาภูเขา (นางไม้) เอคโค เป็นตำนานหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการสื่อสารถูกริดรอน แต่ทว่าเรื่องราวของเธอสามารถนำมาใช้ในเชิงบวกได้อย่างแพร่หลาย
ตามตำนานกรีก‘ซุส’ คือราชาเทพจอมเจ้าชู้มี ‘เฮรา’ ที่เป็นทั้งน้องและภรรยา ขณะที่ซุสกำลังเพลิดเพลินกับนางไม้บนภูเขา เฮราตามมาจับ นางเอคโคพยายามชวนเฮราคุยเพื่อเบี่ยงเบนและถ่วงเวลาให้ซุสหนี ราชินีเทพเฮราจึงสาปให้เอคโคพูดไม่ได้ แต่ทำได้แค่ส่งเสียงสะท้อนคำท้ายๆ ที่คนอื่นพูดกับเธอ
การพูดเพื่อเบี่ยงเบน การพูดถ่วงเวลา เป็นการกันคู่สนทนาออกจากความจริง และกันออกไปจากทิศทางของเขา ซึ่งตรงข้ามกับการสะท้อนคำพูดของคู่สนทนากลับไปให้เขาฟัง จากเอคโคที่เบี่ยงเบนเฮรา มาเป็นเอคโคผู้สะท้อนกลับ
เสียงเอคโคนี้กลายมาเป็นเทคนิกหนึ่งของที่ปรึกษาและนักจิตบำบัด ด้วยการสะท้อนเสียง/คำ ของลูกค้ากลับไปให้เขาฟัง ไม่ได้พยายามจะไปเปลี่ยนหรือกำหนดทิศให้เขา การสะท้อนลักษณะนี้ ไม่ใช่การย้อนคำแบบนกแก้ว นกขุนทอง แต่เป็น active listening การฟังอย่างเอาใจใส่และเข้าอกเข้าใจ ซึ่งอันที่จริงสามารถใช้ได้กับการสนทนาทั่วไป

ต่อมานางเอคโคผู้สะท้อนแต่เสียงของคนอื่น ไปหลงรักนาร์ซีซัส เทพบุตรผู้หลงรักแต่เงาสะท้อนของตัวเองในน้ำ ไปกันไม่ได้จริงๆ นายนาร์ซีซัสลงไปตายในน้ำแล้วมีดอกไม้ผุดขึ้นตรงนั้น ส่วนนางเอคโคก็สลายหายไป เหลือแต่เสียงก้องๆ
ลองมองการจับคู่ของนางเอคโคกับนาร์ซีซัส แล้วมองสถานการณ์บ้านเมืองก็มีความน่าสนใจ การสะท้อนกลับคำที่คนกล่าวไว้ หากสะท้อนไปสู่ผู้หลงใหลในตัวเองและอำนาจ มันย่อมไม่ได้รับการรับฟัง การสะท้อนกลับใช้ไม่ได้ผลกับนาซีซิส

——-
*เรื่องเอคโคนี้เป็นตำนานกรีก เวอร์ชันโรมัน โดย Ovid ใน Metamorphoses
เครดิตภาพแรก: Echo by Alexandre Cabanel, 1874, the Metropolitan Museum of Art, New York.
——-

งานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons แบบ Attribution Non-commercial Share Alike (by-nc-sa) โดยผู้สร้างอนุญาตให้ทำซ้ำ แจกจ่าย แสดง และสร้างงานดัดแปลงจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ของงานนี้ได้โดยเสรี แต่เฉพาะในกรณีที่ให้เครดิตผู้สร้าง ไม่นำไปใช้ในทางการค้า และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้ลิขสิทธิ์เดียวกันนี้เท่านั้น