ในสภาวะไวรัสระบาดและต้องอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่ส่งผลอย่างไรต่ออารมณ์ แล้วจิตใจตอบสนองอย่างไรผ่านความฝัน มาทำความรู้จักกับกลไกทางจิตของตัวเองด้วยการสังเกตความฝันในช่วงนี้ และอาการแบบไหนที่ต้องระวัง
ในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด มีคนจำนวนไม่น้อยฝันแปลกๆ หรือมีความฝันที่ชัดเจนสมจริงกว่าปกติ แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่ฝันลดลง จำความฝันไม่ได้ หรือไม่ฝันเลย การนอนที่เปลี่ยนไป นอนนานขึ้น มีงีบเพิ่ม เปลี่ยนเวลานอน/ตื่น สามารถส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของปริมาณความฝันและความสามารถที่จะจดจำ ภาพ/สัญลักษณ์เดียวกันในฝันของแต่ละคนอาจมีความหมายสากล หรือมีความหมายเฉพาะที่ต่างกันไป แต่ในโพสท์นี้เรามามองภาพใหญ่ลองจับทิศทางว่าฝันของคุณเป็นแนวไหน
1. ฝันที่มาแนวชดเชย ปลอบประโลมใจ กล่าวคือ ฝันไปในทางตรงข้ามกับสิ่งที่เป็นอยู่ หรือฝันที่ช่วยให้รู้สึกดี มีความหวัง ตัวอย่างเช่น ในช่วงล็อกดาวน์ผู้หญิงคนหนึ่งฝันเห็นแสงตะวันเจิดจ้า ชายคนหนึ่งฝันว่าออกไปเดินชมทิวทัศน์ที่สวยงามอย่างผ่อนคลาย ฝันธีมบินได้ ไปไหนมาไหนอย่างอิสระเสรี (***แต่ฝันธีมนี้ไม่ได้มีความหมายนี้เสมอไป***) ฝันถึงคนสัตว์สิ่งของสถานที่ต่างๆ ที่ให้รู้ความสึกอบอุ่นมั่นใจ ทุกอย่างจะ OK ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างที่อยากทำ
2. ความฝันสะท้อนสภาวะจิตอย่างที่เป็น ทั้งแบบสมจริง และแบบมีแฟนตาซี สภาวะอารมณ์ในช่วงนี้จะเน้นเรื่อง ความกลัว ความกังวล ความกระวนกระวาย ความอึดอัด หรือแม้กระทั่งความเครียดเรื่องงานและการเสียรายได้
เช่น ฝันว่าอยู่ในพื้นที่จำกัด ฝันว่าเดินเข้าไปในห้องแล้วต้องแอบๆ ฝันว่าอยากเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัว (อันนี้ออกแนวอึดอัดและอยากปลดปล่อย ***แต่ฝันธีมนี้ไม่ได้มีความหมายนี้เสมอไป***) ฝันเกี่ยวกับท่อ (น้ำใช้/น้ำทิ้ง) ฝันร้ายต่างๆ เช่น ฝันว่าป่วย เป็นไข้ ฝันเห็นคนที่เรารักป่วย ฝันเห็นผู้ล่วงลับมาหา(รู้สึกกลัวๆ) โดนไล่ล่า โดนไล่จิ้ม ทิ่ม แทง ซอมบี้ ผีดิบ โลกาวินาศ สัตว์ดุร้ายเช่นหมาป่า ฝันที่ให้ความรู้สึกเครียดต่างๆ แม้กระทั่งฝันถึงคนจีน และอะไรจีนๆ
ระวังไนท์แทร์เรอร์ (Night Terrors / Sleep terrors) ไนท์แทร์เรอร์ไม่ใช่ฝันร้าย (nightmare) แต่เป็นอาการผิดปกติเกี่ยวกับการนอน พบช่วงที่นอนไม่กลอกตา (Non REM) โดยมากจะเกิดขึ้น 90 นาทีหลังเข้านอน มักพบอาการตั้งแต่วัยเด็กไม่ได้เพิ่งจะมาเป็นตอนโต หากมีอาการดังนี้ควรปรึกษาแพทย์: ตื่นกลางดึก กระวนกระวาย หัวใจเต้นรัว เหงื่อออก หอบ ตัวสั่น อาจกรี๊ดลั่น หรือน้ำตาไหลพราก พอตื่นขึ้นมาจริงๆ ตอนเช้าอาจจำได้หรือจำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่คนที่บ้านจะรู้
กลไกทางจิตของเรานั้นสื่อมาแบบไหน ชดเชย ปลอบประโลม หรือฉายสภาวะจิตอย่างที่เป็น นำเสนอแบบตรงไปตรงมา หรือมีแฟนตาซีเยอะ ไม่มีถูกผิดและไม่มีแบบไหนที่ดีกว่ากัน แต่การตระหนักรู้ตัวตน (self-awareness) นั้นมีประโยชน์ บางทีเราอาจจะกังวลมากกว่าที่เรารู้ตัวก็ได้ ถ้ารู้จะรับมือได้ดีกว่า โพสท์หน้านำเสนอวิธีผ่อนคลายแบบครีเอทีฟ
เครดิตภาพ:
1. Chinese Zombie by Sam Tsang from http://www.scmp.com
2. Sunshine from http://www.eichwis.ch
……………..
งานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons แบบ Attribution Non-commercial Share Alike (by-nc-sa) โดยผู้สร้างอนุญาตให้ทำซ้ำ แจกจ่าย แสดง และสร้างงานดัดแปลงจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ของงานนี้ได้โดยเสรี แต่เฉพาะในกรณีที่ให้เครดิตผู้สร้าง ไม่นำไปใช้ในทางการค้า และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้ลิขสิทธิ์เดียวกันนี้เท่านั้น