ไม่ใช่เสือ ไม่ใช่กระทะ แต่ที่มาของ Panic & Pandemic มาจากเทพกรีก “Pan” ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับแพน ได้แก่เรื่อง Pan’s Labyrinth (2006) แต่แพนในตำนานดั้งเดิมนั้นต่างจากในหนัง โพสท์นี้มาทำความรู้จักกับครึ่งเทพครึ่งแพะผู้นี้กัน
กำเนิด:
เมื่อเทพเฮอมิส (Hermes) พบรักกับนางไม้ (ลูกสาวโอ๊คแมน) เกิดลูกชายที่มีเครา มีเขา และขาหลังเหมือนแพะ พอคลอดปุ๊บวิ่งปั๊บแล้วยังหัวเราะร่า พ่อเฮอมิสพาบินขึ้นเขาโอลิมปุสให้ทวยเทพเจิมๆ เหล่าเทพเห็นลูกครึ่งตนนี้แล้วรู้สึกยินดีปรีดากันทุกคน จึงตั้งชื่อให้เขาว่า แพน/Pan หมายความว่า “all” (all delighted)
แล้วเจ้าความหมายเดียวกันนี้ นำมาใช้ผสมกับคำอื่นๆ ที่ให้อารมณ์ “ทั่วถึง, แผ่, กระจาย, ครอบคลุม, ทุกคน” ไม่ว่าจะเป็นทางบวกหรือทางลบ เช่น Pantheon (ทวยเทพ), Pan Pacific, Pandemic (การแพร่ระบาดของเชื้อโรค)

2. แพนและนางซิริงซ์ โดย Sir Peter Paul Rubens & Jan Brueghel the Elder (1617-1619)
ถ้าแพนมา..ต้องวิ่ง!
แพนเป็นเทพเจ้าชู้ เขาเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญพันธุ์ ความเถื่อนดิบแบบป่าๆ และเป็นเทพอุปถัมภ์การปศุสัตว์ ตำนานความเจ้าชู้ของแพน ได้แก่
– แพนไล่ปล้ำนางไม้ พิตีส์ (Pitys) เพื่อรักษาความบริสุทธิ์ นางกลายร่างเป็นต้นสน ต้นไม้ที่เขียวเสมอ
– แพนไล่ปล้ำนางพราย ซิริงซ์ (Syrinx) เพื่อหนีแพน นางกลายร่างเป็นหญ้ากก เทพเคราแพะจึงตัดไม้น้ำนั้นมาทำเป็นขลุ่ยซิริงซ์
– แพนไล่ปล้ำนางไม้ เอ็คโค (Echo) เธอหนีหายเหลือแต่เสียงเอ็คโค
– แพนไล่ปล้ำเทพแห่งดวงจันทร์ ซิลีนี (Selene) เขาลงทุนห่มขนแกะให้ดูขาวๆ ลวงเทพธิดาดวงจันทร์มาเป็นภรรยาจนได้ ตำนานนี้จะคล้ายๆ เรื่องราหูอมจันทร์ของทางเอเชีย แต่จะว่าไปแล้วความเจ้าชู้และพฤติกรรมของแพนออกจะคล้ายๆ หนุมาน และไซอิ๋ว ทางตะวันตกเปรียบกับแพะ ทางตะวันออกเปรียบกับลิง
สาวๆ ทั้งหลายเตลิดหนีความเจ้าชู้ของแพน ซึ่งเป็นหนึ่งในที่มาของอาการแพนิก แต่จุดเริ่มต้นของ Panic อันที่จริงมาจากการที่แพนช่วยซุส (Zeus) ราชันแห่งโอลิมปุสรบกับไททัน เมื่อแพนเป่าเขาสัตว์ จะแผดเสียงอันน่าสะพรึงกลัวเป็นที่ตื่นตระหนกไปทั่ว สังเกตว่าแพนเป่าได้ทั้งขลุ่ยเพื่อกล่อมให้เพลิน และเป่าเขาสัตว์เพื่อขู่ให้กลัว
โรคระบาดและอาการตื่นกลัว เป็นด้านตรงข้ามของการที่ทุกคนยินดีปรีดา ทั้งสองฟากของความหมายต่างก็มาจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน Pan!
Pan = All
จนกว่าไซเคิลของด้านบวกจะวนกลับขึ้นมา
เครดิตภาพ:
ภาพ 1. Pan (Faunus), 2nd century BC, Musei Capitolini, Rome, from Wikimedia.org
ภาพ 2. Pan & Syrinx โดย Sir Peter Paul Rubens & Jan Brueghel the Elder (1617-1619)
……………..
งานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons แบบ Attribution Non-commercial Share Alike (by-nc-sa) โดยผู้สร้างอนุญาตให้ทำซ้ำ แจกจ่าย แสดง และสร้างงานดัดแปลงจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ของงานนี้ได้โดยเสรี แต่เฉพาะในกรณีที่ให้เครดิตผู้สร้าง ไม่นำไปใช้ในทางการค้า และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้ลิขสิทธิ์เดียวกันนี้เท่านั้น