ไม่สปอยล์
ในศตวรรษที่ 17 เซอร์ไอแซกนิวตันเขียนกฎความโน้มถ่วงสากล, โจนาธาน สวิสฟ์ชาวไอริชเพิ่งจะเริ่มเขียนการเดินทางของกัลลิเวอร์, บาโชกำลังเดินขึ้นเขาลงห้วยแต่งกลอนไฮกุอยู่ในญี่ปุ่น, ที่ประเทศจีนมีนักเขียนนิยายปีศาจ ‘พูซงหลิง’ เขาได้สร้างตัวละครใหม่ขึ้นมา ดังมาก ทายซิใครเอ่ย?
โพสท์นี้มาทำความรู้จักกับพระเอกที่ซ่อนในพระเอก ‘พูซงหลิง’ และทำไมต้อง ‘โปเยโปโลเย’
ปีศาจจิ้งจอกมีในวัฒนธรรมจีนมานานมากแล้วอย่างเช่น จิ้งจอกเก้าหาง และส่งอิทธิพลไปยังญี่ปุ่น แต่ทว่าตัวละครปีศาจจิ้งจอกที่แปลงกายเป็นดรุณีน้อยสุดเย้ายวนนี่ล่ะ เป็นงานสร้างต้นฉบับโดยพูซงหลิง เขาเป็นนักเขียนนิยายปีศาจจีน ซึ่งคนไทยจะได้ดูหนังที่ดัดแปลงจากงานเขียนของเขาในกลุ่มหนังที่มีคำว่า “โปเยโปโลเย” ปีศาจสาวๆ เป็นจุดขายของนักเขียนคนนี้ แต่ไม่ใช่ทุกตัวที่เป็นปีศาจจิ้งจอก
[เพิ่มข้อมูล: ปีศาจจิ้งจอกมีมานานมากแล้ว บันทึกไว้ในตำรารวมสัตว์ประหลาดและถิ่นที่อยู่ ชื่อ ชานไห่จิง ช่วงศตวรรษที่ 4 ก่อนยุคสากล แต่ว่าปีศาจจิ้งจอกจีนโบราณ จะไปเน้นด้านอื่น เช่น แกล้งเลียนเสียงร้องของเด็กทารกเพื่อหลอกคนมากิน หรือเป็นปีศาจสตรีที่ถ้าแต่งงานด้วยแล้วจะรุ่ง (หรือร่วง) ไปจนถึงเป็นเทพแห่งภูเขา (อันนี้เขาไปโยงกับพระนางสิริมหามายา มารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ) ที่ว่าพูซงหลิงออริจินอลนั้น เพราะเขา สร้างตัวละครปีศาจจิ้งจอกเซ็กซี่ขึ้นมา เป็นการแต่งขึ้นใหม่จากความเชื่อปรัมปราแต่ดั้งเดิม]

ปีศาจสาว ในโปเยโปโลเย (1987)

ปีศาจจิ้งจอก ใน Painted Skin (2008)

ปีศาจสาวใน Knight of Shadows (2019)
ดูเหมือนว่าพูซงหลิงชอบเป็นพระเอกในงานเขียนของเขา ในหนังใหม่ที่กำลังเข้าฉายรับตรุษจีน “โคตรพยัคฆ์หยินหยาง”นี้ เฉินหลงแสดงเป็นพูซงหลิง นักปราบปีศาจผู้มีปากกา/พู่กันเป็นอาวุธ แต่ถ้าเป็นนักปราบผีไทยคงต้องเตรียมหม้อดินเผาพร้อมฝาปิดหรือผ้ายันต์

เฉินหลงเป็นพูซงหลิง
อีกตัวละครที่มีความคล้ายคลึงกับชีวิตของนักเขียน ได้แก่ บัณฑิตหนุ่มตกยากในเรื่อง โปเยโปโลเย (1987) เป็นหนังฮ่องกงที่กระแสดีมาก โดยเฉพาะในเกาหลี ญี่ปุ่น ไทย ฯลฯ

โปเยฯ แสดงโดย เลสลีจาง และ หวังจูเสียน
พื้นเพ:
พูซงหลิงเป็นคนเสฉวน เขาไม่ได้เกิดมาร่ำรวย เป็นบัณฑิต (ประมาณจบวิทยาลัย) แต่สอบรับราชการไม่ผ่าน ผันมาเขียนเรื่องสั้นผีกว่า 431 เรื่อง Strange Stories from a Chinese Studio และนิยายผีอื่นๆ รับติวสอนโน่นนี่ไปตามเรื่อง กว่างานเขียนจะได้ตีพิมพ์ เขาก็เสียชีวิตไปกว่า 50 ปีแล้ว
ทำไมจึงเขียนนิยายผี?
ถ้าได้รับราชการก็คงไม่ว่างเขียนนิยาย แต่ถ้าพูซงหลิงไม่มีความชื่นชอบอย่างแท้จริงในเรื่องผีปีศาจ ก็คงไม่เขียนเป็นเรื่องเป็นราวขนาดนี้ แต่อีกหนึ่งแรงกดดันมาจากการเมืองการปกครอง!
เมื่อผีปีศาจกลายเป็นพลังเสรีในยุคที่เสรีภาพในการสื่อสารมีจำกัด
การเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ส่งผลต่อศิลปินไม่น้อย พูซงหลิงเกิดมาในสมัยที่แมนจูเข้ามาครองอำนาจ งานเขียนที่เอ่ยถึงเรื่องราวจากราชวงศ์ก่อนๆ ถูกสั่งห้าม การเขียนตรงไปตรงมาอาจตาย เสไปเขียนเป็นเรื่องผีปีศาจ เปรียบเปรยกันไปก็พออยู่ได้ เรื่องราวที่พูซงหลิงเขียนอันที่จริงมีรากมาจากราชวงศ์ถังปรับให้เนียน แต่ก็มีจินตนาการและวัตถุดิบใหม่ใส่เข้าไปด้วย
งานปีศาจของเขามี 2 มิติ ชั้นนอกสะท้อนชีวิต สังคม ปัญหาความรัก-การแต่งงาน ตัณหาราคะ จริยธรรม ฯลฯ ชั้นในมีปรัชญาเต๋าหยินหยาง และพุทธมหายาน ซึ่งไม่ได้พูดถึงปีศาจภายนอกแต่เป็นปีศาจภายใน การรับมือ และการดำรงอยู่โดยมีทั้งด้านมืดด้านสว่างเดินทางไปด้วยกัน (ลองดูตอนจบของโปเยฯ ภาคแรกสุด)
สำหรับหนังใหม่เรื่องโคตรพยัคฆ์หยินหยางนี้ จะเป็นอย่างไรคงต้องรอดู
โปเยโปโลเย:
ในหนังที่สร้างจากงานเขียนของพูซงหลิง จะมีคำว่าโปเยโปโลเย เท่าที่จำได้เป็นบทสวดปราบปีศาจของพระในหนัง เชื่อว่ามีที่มาจาก “โป เย โป ลัว มี ดัว ซิน จิง” ซึ่งหมายถึง หัวใจแห่งปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ของพุทธฝ่ายมหายาน ซึ่งสอนเรื่อง ความว่าง การละวาง และการข้ามไปสู่ “ฝั่งโน้น” พระสูตรนี้เป็นแก่นหลักธรรมไม่ใช่คาถาปราบผี แต่ถ้าเป็นปีศาจในใจก็คงได้การ
ลองฟังหฤทัยสูตรจากเสียงใสๆ ของนักร้องจีน/ฮ่องกง หวัง เฟย (Faye Wong)
แถมเพลงประกอบเกมที่ขายดีมาก Eyes on Me, Final Fantasy VIII ร้องโดย หวัง เฟย
เครดิตภาพ:
IMDB.com
http://asianwiki.com/Painted_Skin
Clips:
Eyes on Me: cybertourniquet
Heart Sutra: ryuumuchuu2
……
งานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons แบบ Attribution Non-commercial Share Alike (by-nc-sa) โดยผู้สร้างอนุญาตให้ทำซ้ำ แจกจ่าย แสดง และสร้างงานดัดแปลงจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ของงานนี้ได้โดยเสรี แต่เฉพาะในกรณีที่ให้เครดิตผู้สร้าง ไม่นำไปใช้ในทางการค้า และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้ลิขสิทธิ์เดียวกันนี้เท่านั้น