บอลโลกจบแล้ว ลองมาทำความรู้จักกับการแข่งบอลในปรโลกของชาวมายากันดูบ้าง บอลนัดสำคัญชี้ชะตามนุษย์!
อาจเคยได้ยินกันมาว่า FiFA ยกให้เกมบอลของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นที่แรกที่เล่นฟุตบอล ซึ่งก็ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว แต่อันที่จริงการเล่นบอลยังมีให้เห็นในอารยธรรมอื่นทั่วโลก แต่เล่นไม่เหมือนกัน และโพสท์นี้จะนำเสนอเกมบอลของเมโสอเมริกา หรืออเมริกากลาง เชื่อว่าเล่นกันมาเกิน 3,000 ปีแล้ว โดยจะเล่าผ่านตำนานสำคัญของชาวมายา
ตำนานมายา เล่นบอลกับเทพแห่งนรก!
ตำนานหนึ่งเล่าว่า เด็กชายฝาแฝดชอบเตะบอล เสียงดังรบกวนเทพแห่งปรภพ พวกเขาจึงถูกท้าให้ลงมาเล่นในอันเดอร์เวิร์ล หรือชิบาลบา
บรรดาเทพแห่งชิบาลบาใช้กลอุบายกลั่นแกล้ง และหาเรื่องลงโทษประหารหนุ่มทั้งสอง หัวของคนพี่ถูกตัดแล้วนำมาเสียบไว้บนต้นไม้ มีผู้หญิงมาเด็ดผล เจอหัวของนายคนนี้พ่นน้ำลายใส่ เกิดตั้งท้องคลอดลูกแฝด ชื่อ ฮูนาห์ปู และอิกซ์บาลังเค
เด็กสองคนนี้ก็ยังชอบเตะบอล และรู้ว่าพ่อถูกเทพแห่งชิบาลบาฆ่าตาย จึงเล่นบอลดังรบกวน เพื่อจะได้ถูกชวนไปเบื้องล่าง หาโอกาสล้างแค้น เทพแห่งชิบาลบากลั่นแกล้ง ทดสอบพวกเขาผ่านด่านต่างๆ นานา แต่พวกเขาไม่เสียรู้อย่างที่พ่อและลุงเคยพลาด เว้นแต่หัวของฮูนาห์ปูถูกค้างคาวกัดขาด อิกซ์บาลังเคจึงสร้างหัวใหม่ให้พี่ พวกเขาผ่านเข้ามาถึงการแข่งขันแตะบอลกับเทพนรกจนได้ บอลที่ใช้คือหัวของฮูนาห์ปู

การแข่งขัน
คนน้องเตะหัวพี่กระเด็นออกไปนอกสนาม แล้วมีกระต่ายตีนไวแอบช่วยไปอุ้มหัวกลับมาคืนให้ ขณะที่บรรดาเทพนรกเดินหาหัวบอล อิกซ์บาลังเคจึงเตะหัวพี่เข้าประตูชัย ชนะ! แต่เจ้านรกไม่พอใจสั่งเผาหนุ่มทั้งสองเหลือแต่ขี้เถ้า
แต่ทั้งสองฟื้นขึ้นมาใหม่ได้ บรรดาเทพนรกไม่เชื่อ คนน้องเลยควักหัวใจคนพี่ออกมา (รู้สึกว่าคนพี่จะซวยตลอด) แล้วชุบชีวิตเขาขึ้นมาใหม่ให้ชมเป็นขวัญตา คราวนี้เหล่าเทพนรกเชื่อแล้ว อยากลองมีประสบการณ์ “เกิดใหม่” ดูบ้าง เลยขอลองตายเพื่อให้อิกซ์บาลังเคชุบชีวิต แต่โดนหลอก อิกซ์บาลังเคไม่ชุบชีวิตให้ เป็นการจัดการกับเทพนรกที่ชอบฆ่าและกลั่นแกล้งมนุษย์ การเตะบอลนัดนั้น เป็นส่วนหนึ่งของตำนานการสร้าง เวอร์ชันของชาวมายา เกมกีฬาตัดสินชะตาโลกมนุษย์
ภายหลังฮูนาห์ปู และอิกซ์บาลังเคได้กลายไปเป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ เทพแห่งการสร้าง และชีวิต โดยตำนานนี้ให้น้ำหนักแก่ “ชีวิต/การสร้าง อยู่เหนือ ความตาย/การทำลายล้าง” แต่ Life & Death ย่อมอยู่คู่กันเสมอ
แล้วการเล่นบอลของมายาโบราณ เป็นอย่างไร?
เขาแบ่งทีมเป็นสอง มีผู้เล่นทีมละ 2-11 คน ลักษณะสนามเป็นรูปตัว I ลูกบอลขนาด 8-25 cm++ และอาจหนักถึง 3.5 กิโลกรัม!!! หนักมาก แล้วดูโกลสิอยู่ซู้งสูง พบหลักฐานบอลที่ทำด้วยยาง แต่อาจมีวัสดุอื่นอีก

สนามรูปตัว I เมืองโคพาน ภาพ Adalberto Hernandez Vega
การเล่นคือทำให้บอลข้ามไปที่แดนของอีกฝ่าย หรือเดาะบอลรอดวงแหวนสูง ราวกับ “ตะกร้อลอดห่วง” ของไทย อวัยวะที่ใช้สัมผัสบอลคือ เข่า สะโพก ข้อศอก ไม่ใช้มือ ไม่ใช้เท้าหรือแข้งอย่างฟุตบอลปัจจุบัน
การแข่งขันมีทั้งแบบเล่นกันสนุกๆ และแบบประเพณีทำนายชะตาบ้านเมือง โดยทีมที่แพ้ต้องสังเวยชีวิต ตัดหัว! ถ้วยรางวัลคือหัวคนแบบมีด้ามจับ เป็นได้ทั้งหัวจริงและหัวจำลอง เล่นจริง เจ็บจริง หรือวางเดิมพันกันด้วยเมืองก็มี บอลตัดสินชีวิตและชะตาบ้านเมืองแท้ๆ

ประตูโกลที่เมืองชิเชน อิตซา ภาพ Kåre Thor Olsen
สมัยนั้นเล่นกีฬาแล้วฆ่ากัน! สมัยนี้ใช้กีฬาสร้างสุขภาพและสานสัมพันธ์ ขอตะกร้อลอดห่วงแบบไทยๆ หรือเตะบอลในสนามพอเรียกเหงื่อน่าจะกำลังดี

ตะกร้อลอดห่วง โดยนักเรียนบ้านนายม สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1
เครดิตภาพ:
Top 10 Gods and Goddesses of Mayan Mythology by Jim Denison
SmithsonianNMAI
https://www.ancient.eu/article/604/the-ball-game-of-mesoamerica/
ชมรมนักประชาสัมพันธ์สพฐ.ออนไลน์ probeconline สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ภาพ นักเรียนบ้านนายม สพป.เพชรบูรณ์ เขต 1
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.ancient.eu/article/604/the-ball-game-of-mesoamerica/
Philip Wilkinson (2009), Myths & Legends, DK.
……………..
งานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons แบบ Attribution Non-commercial Share Alike (by-nc-sa) โดยผู้สร้างอนุญาตให้ทำซ้ำ แจกจ่าย แสดง และสร้างงานดัดแปลงจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ของงานนี้ได้โดยเสรี แต่เฉพาะในกรณีที่ให้เครดิตผู้สร้าง ไม่นำไปใช้ในทางการค้า และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้ลิขสิทธิ์เดียวกันนี้เท่านั้น