Spoiler Alert! มีเนื้อหาของจูราสสิค เวิล์ด อาณาจักรล่มสลาย
จูราสสิค เวิล์ด ออกแบบฉากตื่นเต้นหวาดเสียวได้ดี และมีหลายอย่างที่ชวนให้นึกถึง จูราสสิค พาร์ค ภาคแรกสุด (ดูอีกรอบก็ยังสนุก) บทบาทแมสคิวลินปกป้องเด็กผู้หญิงยังคงเดิม แต่บทเฟมินิน “สู้โว้ย” มีหลากหลายขึ้น และมีตัวละครเด่นเพศหญิงค่อนข้างเยอะ รวมถึงไดโนเสาร์ด้วยนะ ธีมการสร้างที่ผิดธรรมชาติ หรือเรียกเป็นชื่อเล่นว่า ธีมแฟรงเกนสไตน์ เป็นเรื่องที่เคยเขียนแล้วจึงขอผ่าน ธีมกักขังและปลดปล่อยก็ชัดเจนดี ส่วนที่จะเขียนถึงนี้ คือ
ความเห็นอกเห็นใจ และแนวคิดที่ว่าผู้เข้มแข็งเท่านั้นที่จะอยู่รอด
ในจูราสสิค เวิล์ด เขาสื่อสารว่าไดโนเสาร์ก็มีความเห็นอกเห็นใจ ฝึกได้สอนได้ (ไม่ลืมนะว่านี่เป็นเรื่องแต่ง) โอเวน (พระเอก, ซึ่งเป็นผู้เลี้ยงดูไดโนเสาร์ที่ชื่อ บลู) แกล้งแสดงท่าทางอ่อนแอ แล้วบลูกระโดดงับ มันทำไปตามสัญชาตญาณสัตว์ด้วยเห็นว่าเป็นเหยื่อ เข้าทำนอง Only the strongest will survive! ใครแกร่งอยู่ ใครอ่อนโดนงาบ

Blue & Owen
ตรงนี้น่าสนใจ เพราะลองสังเกตดูจะพบว่า พฤติกรรมเดียวกันนี้ก็พบในมนุษย์ด้วยเช่นกัน เมื่อเห็นจุดที่คิดว่าเป็นจุดอ่อน คนก็จะพุ่งเป้าไปถล่มตรงนั้น ไม่ได้จะกินเนื้อแต่เพื่อทำร้ายจิตใจกัน ดังนั้นถ้าใครแสดงความอ่อนแอ ไม่ว่าอ่อนแอจริงๆ หรือลองใจเพื่อดักดูพฤติกรรม สัญชาตญาณสัตว์ในคนจะเผยโฉม
ข้อดีที่เห็นข้อหนึ่งก็คือ เมื่อศัตรูมา มิตรก็ปรากฏด้วย เพราะสัตว์และคนที่ไม่โจมตีไม่ทำร้ายกันถึงแม้จะเห็นความอ่อนแอของผู้อื่นก็มีไม่น้อย และในบางครั้งกลับกลายเป็นว่า ความอ่อนแอของผู้หนึ่ง ไปกระตุ้นสัญชาตญาณการปกป้องดูแลของคน/สัตว์กลุ่มหลังนี้ขึ้นมา เพราะความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือ ปกป้อง ความรัก และผูกพันธ์ ก็เป็นสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิต อย่างในเรื่อง…พอโอเวนและบลูเริ่มสนิทกันมากขึ้น เมื่อโอเวนทำท่าอ่อนแอ แทนที่บลูจะงับ กลับเข้ามาปลอบๆ แทน หนังพยายามจะสื่อสารว่าไดโนเสาร์เรียนรู้ได้ มีความผูกพันธ์ และเห็นอกเห็นใจ (Empathy) บลูน่าจะมองโอเวนว่าเป็นนายหรือเป็นพวกเดียวกัน
แต่ก่อนคนจะคิดว่า ความสามารถที่จะเห็นอกเห็นใจนั้นมีเฉพาะในมนุษย์ แต่อันที่จริงเป็นเรื่องที่พบได้ทั้งในคนและสัตว์ ในกรณีของสัตว์ สายพันธุ์ที่ยอมรับกันว่ามีความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือกัน ได้แก่ ชิมแพนซี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชิมพ์ที่เรียกว่า “โบโนโบ” พบว่ามีนิสัยเอื้ออารีมาก ยังมีอุรังอุตัง ช้าง หมา แมว หนู โลมา ไก่ เป็นต้น
เรื่องการเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือกันในสัตว์นี้ โดยมากจะช่วยเฉพาะเมื่อเป็น “พวกเดียวกัน” ยกตัวอย่างเช่น สัตว์ที่ส่งเสียงเตือนเพื่อนในฝูงเมื่อเห็นสัตว์นักล่าใกล้เข้ามา ทำให้ตัวมันต้องกลายเป็นเป้า และมักจะตายก่อนเพื่อน แต่มันจะทำเพื่อพวกพ้องในฝูงของตนเท่านั้น อย่างในหนัง..ทั้งๆ ที่น้องบลูตัวเล็กกว่ามาก แต่กระโดดออกมาสู้กับไดโน่ดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อช่วยโอเวน น่าจะจัดอยู่ในกลุ่มนี้

Blue ปกป้อง
แต่สัตว์ที่มีน้ำใจอย่างชิมพ์-โบโนโบ ต่อให้ไม่ใช่กลุ่มเดียวกันก็ยังช่วยเหลือนะ (มีคลิปด้านล่าง) และข่าวที่โลมาช่วยนำทางวาฬหลงทิศ หรือช่วยชีวิตคน ก็น่าจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ทว่าสัตว์มันช่วยในขอบเขตที่มันพอใจจะทำ และในกรณีที่ช่วยเพื่อนนอกฝูงหรือต่างสปีชีส์ พวกมันไม่ได้เสี่ยงชีวิตแต่อย่างใด

Claire, Owen & Maisie
แต่พฤติกรรมที่คนเสียสละช่วยเหลือผู้อื่น แม้ว่าจะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน (ไม่ได้มีความผูกพันธ์ และก็ไม่ใช่ญาติ) ไม่ได้รับผลประโยชน์ และอาจต้องเสียชีวิต เป็นเรื่องที่พบในมนุษย์ อย่างที่พระเอกกับนางเอก ช่วยกันเพื่อปกป้องเด็กผู้หญิงที่ชื่อเมซี่ สิ่งนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “Altruism-ความห่วงใย การช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน” แอลทรูอิซึ่มเป็นคุณสมบัติดีๆ ที่มีอยู่ในมนุษย์ เหมือนความเป็นฮีโร่ที่มีอยู่ในแต่ละคน
การช่วยเหลือแบบเสี่ยงชีวิตอาจไม่ได้พบเห็นกันบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่การช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคมนั้นมีอยู่ ไม่ว่าจะช่วยคนรู้จัก ช่วยคนไม่รู้จัก ช่วยแล้วได้ประโยชน์ต่างตอบแทน ช่วยทั้งๆ ที่ไม่ได้ประโยชน์แต่รู้สึกดีกับตัวเอง (ก็จัดว่าได้ผลในรูปแบบหนึ่ง) ไปจนถึงการช่วยเหลือที่ต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยง
ถ้าผู้ที่เข้มแข็งที่สุดจึงจะอยู่รอด แล้วความเข้มแข็งในมนุษย์คืออะไรกันแน่?
ชิมแพนซี Bonobo จาก National Geographic, Published on Jun 16, 2014
Photo credit: Universal Pictures, IMDb
……………..
งานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons แบบ Attribution Non-commercial Share Alike (by-nc-sa) โดยผู้สร้างอนุญาตให้ทำซ้ำ แจกจ่าย แสดง และสร้างงานดัดแปลงจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ของงานนี้ได้โดยเสรี แต่เฉพาะในกรณีที่ให้เครดิตผู้สร้าง ไม่นำไปใช้ในทางการค้า และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้ลิขสิทธิ์เดียวกันนี้เท่านั้น