เห็นว่ามีหนังสือใหม่ “ฮารูกิ มูราคามิ ไปพบ ฮายาโอะ คาวาอิ” ขอบคุณสำนักพิมพ์กำมะหยี่ และผู้แปล คุณมุทิตา พานิช ที่พิมพ์เล่มนี้ออกมา ระหว่างรอของ Deepfilm จะเขียนเกี่ยวกับคุณคาวาอิ การเล่นทรายบำบัด และผลงานของเขาที่น่าสนใจ
คุณคาวาอิเป็นนักจิตบำบัดสายยุงเกียนคนแรกของญี่ปุ่นนับแต่ปี 1965 (ประมาณ 50 ปีก่อน) ถึงแม้ว่าจะมีการทำจิตบำบัดแนวอื่นในญี่ปุ่นอยู่ก่อนแล้ว แต่งานสายนี้ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในยุคนั้น เขาคิดว่าการนำเสนอการวิเคราะห์ความฝันแบบตรงๆ ตามแบบฉบับยุงเกียนสวิสน่าจะยาก คนอาจคิดว่างมงายไม่เป็นวิทย์ คุณคาวาอิจึงใช้ Sandplay Therapy หรือการบำบัดด้วยการเล่นทรายเป็นตัวนำร่อง เพราะเชื่อว่ามันสอดคล้องกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น
วัฒนธรรมญี่ปุ่นกับ Sandplay แบบตะวันตก
วัฒนธรรมที่ว่านี้ได้แก่ ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในสิ่งต่างๆ (ชินโต) การจัดสวน การจัดดอกไม้ และการละเล่นจัดข้าวของขนาดเล็กในกล่อง ซึ่งคุณคาวาอิเห็นว่าคล้ายกับการเล่นทรายบำบัด ที่ใช้สิ่งของจับต้องได้อย่าง ทราย ตุ๊กตา และโมเดลจำลองต่างๆ มาเล่นสร้างสรรค์ในกระบะ น่าจะง่ายกว่าการบำบัดที่ใช้แต่ภาษาพูด ดังนั้นเขาจึงแนะนำการเล่นทรายก่อน แล้วการวิเคราะห์ความฝันค่อยตามมาทีหลัง

Sandplay
ขอเสริมว่า บางคนจำฝันไม่ได้ บางคนก็พูดไม่เก่งหรือไม่อยากพูด บางครั้งคนไข้ก็เป็นเด็ก การเล่นสร้างสิ่งต่างๆ บนกระบะทรายช่วยเปิดช่องทางให้เนื้อหาจากจิตใจได้ผ่านออกมาแบบเพลินๆ เสมือนการย่อโลกในจิตหรือนำภาพในใจออกมาสู่กระบะ ตามมาด้วยการพูดคุย ตีความ หรือบางครั้งไม่วิเคราะห์ชัดแต่ให้คนไข้ถืออุ้มความปั่นป่วนเอาไว้ค่อยๆ ซึมซับ (จุดนี้แล้วแต่ความเหมาะสมและสไตล์ของนักบำบัด) แซนด์เพลย์เป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำไปสู่การเข้าใจตัวเอง ใช้ประกอบการบำบัดและเยียวยาจิตใจได้ เทคนิกนี้พัฒนาโดย Dora Kalff และ Carl Jung
เรื่องการเล่นทรายนี้ จัดเป็นกิจกรรมประเภท “แอคทีฟ อิมแมจิเนชัน” (Active Imagination) คือการใช้จินตนาการอย่างแอคทีฟ มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาในจิตใจ ในขณะที่ “ตื่นอยู่ มีสติ ไม่ได้หลับฝัน” แอคทีฟ อิมแมจิเนชัน เป็นรูปแบบการสื่อสารกับจิตไร้สำนึกที่สำคัญมากในการบำบัดแบบยุงเกียน และประยุกต์กับศิลปะบำบัดได้หลากหลาย เช่น การวาด/ระบายสี การเต้น การปั้น การเขียน ดนตรี และเครื่องมืออื่นๆ ใช้ทั้งความฝันยามหลับ-จินตนาการตอนตื่นควบคู่กันไป

ภาพชั้นวางโมเดลตุ๊กตุ่นตุ๊กตา และกระบะทราย แต่นักบำบัดรุ่นใหม่บางท่านใช้แค่ทรายเปล่าๆ ก็มีนะ ธรรมชาติมาก
งานเขียนของฮายาโอะ คาวาอิ
คุณคาวาอิ มีชื่อเสียงในต่างประเทศเรื่องการนำตำนานของชาวญี่ปุ่นเผยแผ่สู่โลก เน้น East meets West คือเอางานตะวันตกและตะวันออกมาเทียบเคียงศึกษาควบคู่กันไป เขาเขียนเล่าตำนาน ตีความอธิบาย และเขียนวิเคราะห์ความฝันของคนไข้ญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษด้วย เขากล่าวถึงความเหมือนต่างอันเนื่องด้วยปรัชญาทางศาสนา กล่าวถึงสังคมญี่ปุ่นผ่านฝันของคนไข้ เช่นประเด็นที่สตรีเป็นช้างเท้าหลังและมีกรอบเคร่งครัดอยู่บ้าง (ช่วงทศวรรษ 60’s-80’s) เรามีหนังสือของคุณคาวาอิอยู่ 3 เล่ม เคยใช้เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสมัยเรียนเมื่อนานมาแล้ว ไปขุดค้นในตู้หาเจอแค่สองเล่มนี้

ปกเล่มซ้ายรูปต้นสนญี่ปุ่น คุณคาวาอิว่า เป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืนยาว (longevity)
ในหนังสือของคุณคาวาอิ จะมีภาพวาดญี่ปุ่นโบราณ ภาพไดอะแกรม และตารางเปรียบเทียบข้อมูลอยู่ประปราย สมกับแบ็กกราวด์ที่เรียนมาทางคณิต เขาคงต้องต่อสู้กับตัวเองอยู่ไม่น้อย ด้วยพื้นฐานสายวิทย์ ที่มีข้อมูลชัดเจน พิสูจน์วัดได้ ข้ามมาศึกษาศาสตร์แห่งจิตซึ่งเบลอจับต้องไม่ได้ สองความต่างนี้สะท้อนอยู่ในงานของเขา มันดึงเขาไปคนละฟาก “the tension of opposites” และการนำแซนด์เพลย์มาใช้ จึงเหมือนสะพานเชื่อมสองฟากอันสุดโต่งทำสิ่งที่จับต้องไม่ได้…ให้จับได้

ภาพวาดแบบญี่ปุ่น: พระโพธิสัตว์ช่วยคนในนรก

ราวกับกราฟคณิตศาสตร์

ข้อมูลเปรียบเทียบ ชัดเจนเป็นระบบ
อีกหนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดง
ตอนนี้คุณฮายาโอะ คาวาอิ ได้เสียชีวิตไปแล้ว ด้านล่างนี้คือลูกชายของเขา ดร. โทชิโอะ คาวาอิ เดินตามรอยพ่อเป็นนักจิตบำบัดยุงเกียน ส่วนสไตล์ของเขา ลองอ่านงานเขาดู แต่ละคนก็มีเอกลักษณ์ของตัวเอง สำหรับคุณโทชิโอะ..ไม่ช้าก็เร็วคงได้พบกัน

Dr. Toshio Kawai
ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.kawaihayao.jp/en/
http://www.sandplayohio.com/dora-kalff-founder.html
https://www.sandplaytrainingworldwide.com/what-is-sandplay/
……………..
งานนี้เผยแพร่ภายใต้ลิขสิทธิ์ Creative Commons แบบ Attribution Non-commercial Share Alike (by-nc-sa) โดยผู้สร้างอนุญาตให้ทำซ้ำ แจกจ่าย แสดง และสร้างงานดัดแปลงจากส่วนใดส่วนหนึ่ง ของงานนี้ได้โดยเสรี แต่เฉพาะในกรณีที่ให้เครดิตผู้สร้าง ไม่นำไปใช้ในทางการค้า และเผยแพร่งานดัดแปลงภายใต้ลิขสิทธิ์เดียวกันนี้เท่านั้น