Spoiler Alert!!! มีเนื้อหาของ Ghost in the Shell (2017)
ถ้าสองพี่น้องวาเชาสกี้ไม่ได้ประกาศว่า ได้แรงบันดาลใจจากเรื่อง Ghost in the Shell (1995) และหยิบยืมไอเดียบางส่วนมาใช้ใน The Matrix เราก็อาจไม่รู้จักการ์ตูนเรื่องนี้ แต่เวอร์ชัน 2017 เพิ่มความดรามาติก โรแมนติกเข้ามา เนื้อหาไม่เหมือนกับในอนิเมะ ตัวเอกฝ่ายชายของเรื่องนี้เป็น Hideo ไม่ใช่ Puppet Master ดังนั้น ฉากเด็ดตอนที่ Puppet Master อธิบายว่าเขาคืออะไร จึงไม่มี และน่าเสียดาย แต่ถึงจะไม่เหมือนในการ์ตูน เวอร์ชันนี้ก็มีอะไรน่าสนใจอยู่บ้าง
ไอเดียที่กลายเป็นไอคอนนิก อย่าง Digital rain สีเขียวๆ ที่ the Matrix ยืมมาจาก Ghost in the Shell นั้น ไม่มีให้เห็นในเวอร์ชันคนแสดงนี้ แต่จะเห็นภาพ hologram สีแดงๆ แทน โปสเตอร์หนังก็เป็นสีแดง การประชุมและการการฉายภาพที่เกิดเหตุด้วยโฮโลแกรม หรือการจับง้าง ยืด ขยาย ภาพโฮโลแกรม เป็นจินตนาการที่เริ่มมาจาก Star Wars สำหรับ G.i.t.S. เวอร์ชันนี้เหมือนเอาโฮโลแกรมแบบ Star Wars มาผสมกับ Digital rain ซึ่งในอนิเมะและ the Matrix ใช้สีเขียว ส่วนโฮโลแกรมใน Star Wars จะใช้สีฟ้า เรื่องนี้ใช้…สีแดงๆ คงไม่อยากให้ซ้ำ ในความเป็นจริงวิทยาศาสตร์ปัจจุบันสามารถพัฒนา 3D holograms ที่เราสัมผัสแล้วรู้สึกถึงมันได้ มีออกมาแล้วนะ แต่ยังไปไม่ถึงขั้นที่เห็นในหนัง

สีเขียว the Matrix: Digital Rain

สีฟ้า Star Wars: Hologram of Leia

สีฟ้า Star Wars II: 3D Hologram Map
[เขียนเพิ่ม 14/4/17 เวลา 23.32] เราไม่เห็นดิจิทัล เรน สีเขียวในหนัง แต่เพิ่งได้เห็นภาพโปสเตอร์ ที่เป็นสไตล์เขียวๆ แล้ว
ลองนึกถึงชุดทหารพราน ลายแคโมฟลาช ที่ช่วยให้ดูกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ข้าศึกมองไม่เห็น มาจนถึงเครื่องบินอำพราง (Stealth) ที่เหมือนว่าล่องหน ซึ่งเริ่มมีตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่ใช่ไอเดียที่แปลกใหม่ แต่การให้ร่างนางเอก (Major) สามารถเข้าโหมดสเตลท์ได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องถอดเสื้อผ้านะ คงเน้นตอบสนองอารมณ์มากกว่าเทคนิก สู้โป๊ๆ ตัวละครที่ต้องหาเสื้อผ้าใหม่บ่อยๆ อีกสองตัวที่กำลังนึกถึงอยู่ ได้แก่ the Hulk และ มนุษย์หมาป่า แปลงร่างทีไรโป๊ทุกที แต่คนละอารมณ์กันเลยจริงๆ นัดนี้เมเจอร์ชนะเลิศ

Camouflage

Stealth

Major Stealth
แนวคิดเรื่องการสร้างชีวิตโดยเอาอวัยวะของคนมาประกอบที่ใครๆ ก็รู้จัก คือ Frankenstein (1818) แนวคิดนี้ยังคงอยู่ในความสนใจของคนมาโดยตลอด สำหรับ G.i.t.S. เมเจอร์เป็นไฮบริด หุ่นไซบอร์กที่มีสมองมนุษย์ คือพัฒนาการขั้นสูงของแฟรงเกนสไตน์ ความต้องการที่จะสร้างชีวิตและเอาชนะความตาย คือความทะเยอทะยานของมนุษย์ที่อยากเป็น “พระเจ้า” ในเรื่องนี้มาในบทบาทของ ดร.อูเลต์ (Juliette Binoche คนเดียวกับที่เล่นเรื่อง Chocolate) แต่กลายเป็นว่า การสร้างในครั้งนี้กระตุ้นสัญชาตญาณมนุษย์ของเธอขึ้นมาแทน นั่นคือความเป็น “แม่” ดร. อูเลต์จึงสละชีวิตเพื่อช่วยเมเจอร์ เนื้อหาให้ความสำคัญกับสมองมนุษย์ ถ้ามีสมอง ก็มี “ghost จิตวิญญาณ” ที่มี identity มีความนึกคิดเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ หรือ AI ไม่มี Genuine intelligence ไม่ใช่ Artificial intelligence การมีจิตวิญญาณและความเป็นตัวตน ทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์ หากสูญเสียมันไป ก็เป็นแค่หุ่นยนต์

Dr. Ouelet
นางเอกถูกเรียกว่า “Major” ถ้าเป็นยศ ก็พันตรี แต่คำตรงตัวภาษาอังกฤษ หมายถึง “สำคัญ สำคัญมาก” เพราะเธอคือหนึ่งเดียวในโลกที่ผสานความเป็นมนุษย์เข้ากับหุ่นยนต์ แล้ววิวัฒน์ไปอีกขั้น แต่เธอได้แต่บอกว่ามันช่างอ้างว้างเหลือเกิน มนุษย์ก็ไม่ใช่ หุ่นก็ไม่เชิง ไม่มีพวกเดียวกัน ไม่รู้สึกเชื่อมโยงกับใครหรืออะไรทั้งนั้น ไม่ต้องถูกทำให้เป็นไซบอร์ก ก็รู้สึกแบบเดียวกันนี้ได้ สังคมในปัจจุบันที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตตลอดเวลา มีคนมากมายอยู่ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ แต่ที่จริงพวกเราได้ “connect” กับใครแท้จริงหรือไม่
เมเจอร์เลือกที่จะดำดิ่งลงไปใต้น้ำเพื่อหาความสงบ เงียบ และเธอยังบอกว่า มันทำให้เธอรู้สึกกลัว การโหยหาสัญชาตญาณดั้งเดิมของความเป็นคน “ความกลัว” และการ “unplug” ทำให้รู้สึก “มีชีวิตและเป็นมนุษย์” การที่อยู่ในร่างอันสมบูรณ์แบบและแข็งแกร่งมาก ถูกวางโปรแกรมให้ต่อสู้อย่างไม่กลัว เพราะ “ซ่อมได้” มันขัดกับความเป็นคน โปรแกรมในสมองกับสัญชาตญาณมนุษย์ขัดแย้งกัน และไม่โอเค มันฉีกเธอออกจากข้างใน

Aramaki
ในขณะที่นางเอกถูกสร้างให้ดูเหมือนมนุษย์ งดงามไร้ที่ติ (อันนี้ก็แล้วแต่ชอบ) แต่หญิงขายบริการคนที่เธอจ้างมาสัมผัส กลับแต่งหน้าทำตัวดูเหมือนหุ่นยนต์ เครื่องสำอาง สติ๊กเกอร์ และของตกแต่งต่างๆ ทำให้พวกเธอดูเป็นมนุษย์น้อยลง เหมือนเกอิชาเวลาทำงานต้องทาหน้าขาว พวกเธอกำลัง “สวมบทบาท” เอ็นเตอร์เทนคน เป็นงาน…ไม่ใช่ชีวิตส่วนตัว หุ่นไม่อยากเป็นหุ่น และคนไม่อยากเป็นคน หัวหน้าหน่วย 9, อะรามากิ บอกกับเมเจอร์ว่า เมื่อเราเห็น “uniqueness” ของเราว่าเป็นเรื่องที่ดี (แทนที่จะรู้สึกแย่กับมัน) เราจะพบกับความสงบ
เครดิตภาพ:
Paramount Pictures
ทหาร wikipedia.org
เครื่องบิน Stealth wehrmacht-history.com
Creative Commons License This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivs 3.0 Unported License.
1 ความเห็น